วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดาวศุกร์ (Venus)

      

        ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมาก จนได้ชื่อว่าเป็น น้องสาวฝาแฝด กับโลก มองเห็นเป็นดวงสีขาว สว่างสุกใสที่สุดในท้องฟ้า ชาวโรมันถือว่า ดาวศุกร์เป็นสัญลักษณ์ ของเทพธิดาแห่งความรักและความงาม  ดาวศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์โดยเฉลี่ย ๑๐๘ ล้านกิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ทาง ๒ ฟากฟ้า เช่นเดียวกับดาวพุธ เมื่อเห็นดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าด้านตะวันออกตอนเช้ามืด ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยแต่ก่อนจึงเรียกว่า ดาวรุ่ง หรือ ดาวประกายพรึก แต่เมื่อดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าด้านตะวันตก ตอนพลบค่ำ ตกลับฟ้าตามหลังดวงอาทิตย์ ผู้คนเข้าใจว่า เป็นดาวคนละดวง จึงเรียกว่า ดาวประจำเมือง ปรากฏการณ์นี้จะเข้าใจง่ายขึ้น ถ้านึกถึงวงโคจรโลก และดาวศุกร์ในอวกาศ เนื่องจากดาวศุกร์โคจรอยู่วงในที่ใกล้ดวงอาทิตย์ มากกว่าโลก เมื่อมองจากโลกเทียบกับดวงอาทิตย์ บางครั้ง เราจึงเห็นดาวศุกร์ โคจรไปอยู่ทางด้านตะวันออก และบางครั้งก็อยู่ทางด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมองจากโลก เราจึงมองเห็นดาวศุกร์ได้ ๒ ฟากฟ้า ระยะสูงสุดในท้องฟ้า ขณะดวงอาทิตย์ อยู่ที่ขอบฟ้าเป็น 47 องศา ดาวศุกร์แตกต่างจากดาวเคราะห์อื่นๆ หลายดวง เพราะหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก สวนทางกับดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะ ผู้สังเกตที่อยู่บนดาวศุกร์ จึงเห็นดวงอาทิตย์ และดวงดาว เคลื่อนขึ้นจากขอบฟ้าด้านตะวันตกไปตกลับทางขอบฟ้า ด้านตะวันออก นอกจากนั้น ดาวศุกร์ยังหมุนรอบตัวเองช้ามาก คือ 1 วันของดาวศุกร์นานเท่ากับ 243 วันของโลก ขณะที่ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบหรือ 1 ปีของดาวศุกร์ ยาวนานเป็น 225 วันของโลก ช่วงเวลาของดาวศุกร์ 1 วัน จึงยาวกว่าช่วงเวลา 1 ปี อยู่ 18 วัน
        เมื่อส่องกล้องโทรทรรศน์ดูดาวศุกร์ จะเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ในวันข้างขึ้นข้างแรม แต่มีขนาดเสี้ยว และความสว่างแตกต่างกัน แล้วแต่ตำแหน่งของดาวศุกร์ ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ กาลิเลอี, กาลิเลโอ (Galilei, Galileo) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ผู้สังเกตเห็นเป็นคนแรกใน พ.ศ. 2153 ใช้ยืนยันความคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ
        ในช่วง พ.ศ.2505 - 2537 มีการส่งยานอวกาศหลายลำไปสำรวจดาวศุกร์ แต่มนุษย์ก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับดาวศุกร์น้อยมาก เนื่องจาก ดาวศุกร์มีเมฆหนาทึบปกคลุม จนมองไม่เห็นพื้นผิว แม้แต่ยานอวกาศเวเนรา (Venera) ของสหภาพโซเวียต ที่ลงแตะบนพื้นผิวดาวศุกร์เพียงชั่วครู่ก่อนสูญสลายไป ก็ส่งภาพถ่ายมืดสลัวไม่ชัดเจน แต่เป็นครั้งแรกที่เปิดเผยว่า พื้นผิวบริเวณที่ยานลงจอด เต็มไปด้วยก้อนหิน และลาวา ที่แข็งตัว จนเมื่อยานแมกเจลแลน (Magellan) ของสหรัฐอเมริกาโคจรสำรวจรอบดาวศุกร์ในช่วง พ.ศ. 2533 - 2537 ยานได้เก็บข้อมูลด้วยระบบเรดาร์สามารถส่องทะลุชั้นเมฆหนาทึบ เปิดเผยถึงลักษณะภูมิประเทศของดาวศุกร์ ด้วยภาพถ่าย ที่แตกต่างจากภาพในช่วงคลื่นแสง ที่ตาคนมองเห็นได้ตามปกติ
         ดาวศุกร์เป็นดินแดนแห่งซากภูเขาไฟ มีเถ้าและลาวาไหลทับถมอยู่ทั่วไป ภูเขาไฟขนาดต่างๆ กัน กระจายอยู่ทั่วดวง แต่ไม่เรียงตัวต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แสดงว่า โครงสร้างใต้เปลือกดวง ไม่มีการเคลื่อนตัว อย่างเช่น แผ่นเปลือกโลก พื้นผิวในแนวศูนย์สูตรเป็นพื้นที่สูง มีผืนทวีปใหญ่ ๒ แห่ง ขนาดราวทวีปแอฟริกา และทวีปออสเตรเลียบนโลก โดยมีแนวเขายาวเชื่อมต่อกัน นอกนั้นเป็นพื้นที่ต่ำกว่า  ดาวศุกร์มีหลุมอุกกาบาตกระจายทั่วดวงจำนวนนับพันแห่ง พบมากในบริเวณพื้นที่ต่ำ หลุมอุกกาบาตหลายแห่งถูกลาวาไหลท่วมท้น พื้นผิวมีร่องเป็นทางยาว คล้ายกับถูกกัดเซาะยาวเหยียดหลายพันกิโลเมตร ลักษณะคล้ายแม่น้ำ หรือที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง และดินดอนปากแม่น้ำบนโลก แต่ดาวศุกร์ร้อนเกินกว่าที่จะมีน้ำเหลวอยู่ได้ และมีกระแสลมอ่อน ซากการกร่อนจึงไม่ได้เกิดจากกระแสน้ำและกระแสลม แต่เกิดจากหินหนืด และกระแสธารลาวามากมาย ที่ปะทุออกมาจากภูเขาไฟบนดาวศุกร์ ถึงแม้ว่ากำเนิดของดาวศุกร์กับโลกจะคล้ายคลึงกันก็ตาม โดยต่างก็มาจากกลุ่มก้อนก๊าซ ต้นกำเนิดระบบสุริยะพร้อมๆ กัน มีบรรยากาศตอนแรกเริ่มที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกำมะถัน ปะทุออกมาจากภูเขาไฟ ที่ระเบิดเหมือนๆ กัน ถูกเศษดาวเคราะห์จำพวกดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง เป็นตัวนำน้ำ และน้ำแข็งจากเขตชั้นนอก ของระบบสุริยะพุ่งชนอยู่เสมอเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายพันล้านปี ดาวเคราะห์ทั้งคู่ ต่างมีวิวัฒนาการ ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันนอกจากขนาดที่ใกล้เคียงกันแล้ว ดาวศุกร์ไม่มีสิ่งใด คล้ายโลกอีกเลย บรรยากาศของดาวศุกร์ ยังคงเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีฝุ่นกำมะถัน จากการระเบิดของภูเขาไฟคละคลุ้ง รวมตัวกับไอน้ำ เกิดเป็นเมฆสีเหลือง ห่อหุ้มหนาทึบ และกลายเป็นฝนกรดกำมะถัน ทำให้บรรยากาศของดาวศุกร์เต็มไปด้วยก๊าซพิษ ที่ไม่เอื้ออำนวย ต่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

สภาวะเรือนกระจกบนดาวศุกร์

เมื่อพลังงานจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ลงไปกระทบพื้นผิว รังสีความร้อนบางส่วน จะสะท้อนกลับผ่านบรรยากาศแผ่ออกสู่อวกาศได้ โดยมีก๊าซในบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน ทำหน้าที่คล้ายผนังกระจกของเรือนเพาะชำ สะท้อนรังสีความร้อนบางส่วนกลับลงสู่พื้นผิว ซึ่งช่วยให้ดาวเคราะห์มีความอบอุ่น ไม่หนาวเย็นเกินไป เรียกก๊าซจำพวกนี้ว่า ก๊าซเรือนกระจก

โครงสร้างของดาวศุกร์
     เปลือกชั้นนอกของดาวศุกร์ จะเป็นชั้นของหินซิลิเกตมีหลุมอุกกาบาตไม่มาก มีที่ราบขนาดใหญ่สองแห่งคือ ที่ราบอะโฟรไดท์ ( Aphrodite) ขนาดราวทวีปอัฟริกา และที่ราบอิชทาร์ (Ishtar) ขนาดราวทวีปออสเตรเลีย และมีแนวภูเขาเหยียดยาว กับปล่อยภูเขาไฟที่พ่นธารลาวาออกมา ชั้นกลางเป็นหินกับโลหะ ส่วนแกนกลาง เป็นเหล็กและนิเกิลที่หลอมเหลว
            




     บรรยากาศของดาวศุกร์ ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97% ไนโตรเจน 3.5% ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และ อาร์กอน 0.5% มีชั้นเมฆคาร์บอนไดออกไซด์ที่หนาทึบมาก ปกคลุมดาวศุกร์ทั้งดวงทำให้สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี จึงเห็นดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างสุกใสมาก และยานอวกาศที่ไปสำรวจดาวศุกร์ก็ไม่สามารถถ่ายภาพพื้นผิว โดยตรงได้ ต้องอาศัยคลื่นเรดาห์ผ่านทะลุชั้นเมฆแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์อีกครั้ง
      อุณหภูมิของดาวศุกร์ ด้วยชั้นเมฆหนาของดาวศุกร์ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก อุณหภูมิบนดาวศุกร์สูงมาก ประมาณ 500 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
      ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกบนพื้นผิวรุนแรง มาก ทั้งนี้เพราะดาวศุกร์มีก๊าซที่ช่วยดูดกลืนความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มาก และ มีปริมาณสูง ก๊าซดังกล่าวคือ คาร์บอนไดออกไซด์ นอกจาากนี้ยังมีไอของกรดกำมะถัน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับไอน้ำ บรรยากาศของดาวศุกร์มีอาร์กอน ไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ นีออน- ไฮโดรคลอไรด์ และไฮโดรฟลูออไรด์ ทำให้ความกดดันบรรยกาศสูงกว่าโลก 90 เท่า ปรากฏการณ์เรือนกระจกบนพื้นผิวดาวศุกร์ ทำให้ดาวศุกร์ร้อนทั้งกลางวันและกลางคืน ตอนกลางวันอุณหภูมิสูงถึง 477 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวดาวศุกร์มีร่องลึกคล้ายทางน้ำไหล แต่เป็นร่องที่เกิดจากการไหลของลาวาภูเขาไฟ ไม่ใช่เกิดจากน้ำอย่างเช่นบนโลก ร่องเหล่านี้ยาวนับร้อยถึงพันกิโลเมตร กว้าง 1-2 กิโลเมตร เช่น ร่องบอลติส วัลลิส (Baltis Vallis) ซึ่งยาว 6,800 กิโลเมตรนับว่ายาวที่สุดในระบบสุริยะ บนพื้นผิวดาวศุกร์มีซากภูเขาไฟที่สูงชื่อ มาตมอนส์ (Maat Mons) ภาพที่สร้างขึ้นจากข้อมูลเรดาร์ของยานอวกาศแมกเจลแลนจากระยะ 550 กิโลเมตร สูงจากพื้นผิว 1.7 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่ามาตมอนส์เป็นภูเขาไฟที่สูงประมาณ 6 กิโลเมตร ปรากฏการณ์บนฟ้าเกี่ยวกับดาวศุกร์ การปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากวงโคจรของดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์เล็กกว่าวงโคจรของโลก ทำให้ด้านสว่างของดาวศุกร์ที่หันมาทางโลกมีขนาดเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ใกล้โลก จะมีด้านสว่างเพียงเล็กน้อยหันมาทางโลกทำให้เห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวบางๆ แต่มีความยาวมากกว่าเมื่อดาวศุกร์อยู่ไกล ช่วงที่เห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยงบางๆ นี้เองที่ดาวศุกร์ปรากฎสว่างมากบนฟ้าด้วย ส่วนเมื่อปรากฎเป็นเสี้ยวน้อยลงหรือเกือบเป็นเต็มดวง ขนาดปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะเล็กลงและสว่างลดลง ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เมื่อดาวศุกร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ โดยอยู่บนเส้นตรงที่ต่อระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แต่คนบนโลกจะเห็นดาวศุกร์เป็นวงกลมดำบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ เรียกว่า ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) เกิดไม่บ่อย เกิดเป็นคู่ห่างกันประมาณ 8 ปี ใน 1 ศตวรรษจะมีเกิด 1 คู่ เช่น คู่ที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือในปี ค.ศ. 1631 และ 1639 คู่ที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือในปี ค.ศ. 1761 และ 1769 คู่ที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือในปี ค.ศ. 1874 และ 1882 คู่ที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 คือในปี ค.ศ. 2004 และ 2012

     การสำรวจดาวศุกร์ โดยยานอวกาศ ยานอวกาศลำแรกที่ถ่ายภาพเมฆดาวศุกร์ได้ คือยานอวกาศของสหรัฐอเมริกา ชื่อยานมารีเนอร์ 10 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ยานอวกาศลำแรกที่ได้ถ่ายภาพพื้นผิวดาวศุกร์ได้ คือยานอวกาศเวเนรา 9 ของรัสเซีย ซึ่งลงสัมผัสพื้นผิวของดาวศุกร์เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ต่อมามียานอวกาศไปสำรวจดาวศุกร์อีกหลายลำ ลำล่าสุดที่ถ่ายภาพโดยอาศัยระบบเรดาร์ คือยานแมกเจลแลน เมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น