วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดาวเนปจูน (Neptune)




ดาวเนปจูน (Neptune)

ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เป็นที่ ๔ ในระบบสุริยะ จุโลกได้ถึง ๖๐ ดวง ระยะห่างเฉลี่ย จากดวงอาทิตย์ ๔,๕๐๔ ล้านกิโลเมตร อยู่ไกลจากโลกมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะเห็นเป็นจุดริบหรี่ได้ สิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับดาวเนปจูน ในทุกวันนี้ จึงเป็นข้อมูลที่ได้มาจากยาน วอยเอเจอร์ ๒ ซึ่งโคจรสำรวจดาวเนปจูน ระยะใกล้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

ประวัติการค้นพบ

หลังจากค้นพบดาวยูเรนัส ใน พ.ศ. ๒๓๒๔ แล้ว นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ต้องมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ส่งแรงรบกวนวิถีโคจรของดาวยูเรนัส จึงคำนวณหาตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงนั้นไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๘๙ จึงส่องกล้องโทรทรรศน์ ค้นพบดาวเนปจูนอยู่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่คำนวณไว้

ลักษณะสำคัญ

ดาวเนปจูนมีลักษณะคล้ายกับดาวยูเรนัสหลายอย่าง เช่น มองจากกล้องโทรทรรศน์เห็นเป็นดวงสีน้ำเงิน บรรยากาศหนาทึบ ประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ มีก๊าซมีเทน และไฮโดรคาร์บอนอีกเล็กน้อย เนื่องจากก๊าซมีเทนในบรรยากาศชั้นบนดูดกลืนแสงสีแดงไว้ และสะท้อนแสงสีน้ำเงินออกมา จึงทำให้เรามองเห็นดาวเนปจูนมีสีน้ำเงินคล้ายกับดาวยูเรนัส

ลักษณะเด่นของดาวเนปจูน คือ เป็นดาวเคราะห์แห่งพายุ สภาพอากาศแปรปรวน พบพายุหมุนขนาดใหญ่เท่าโลกปรากฏเป็นจุดสีคล้ำเด่นชัด เรียกว่า จุดดำใหญ่ อยู่ทางซีกใต้ของดาวเนปจูน ลักษณะคล้ายกับจุดแดงใหญ่ บนดาวพฤหัสบดี นอกจากนั้นยังมีจุดดำขนาดเล็กปรากฏอยู่ทางซีกเหนือ ของดาวเนปจูน เกิดขึ้นและหายไปไม่อยู่คงที่ และกลุ่มเมฆสว่างหมุนวน มีขนาดและรูปร่างไม่คงที่ เคลื่อนที่ไปรอบดาวเนปจูนอีกด้วย สันนิษฐานว่า ลักษณะเหล่านี้เป็นพายุหมุน ที่เกิดจากอุณหภูมิ และความกดอากาศระหว่างชั้นบรรยากาศแตกต่างกัน ทำให้เกิดกระแสอากาศหมุนวน กระแสลมบนดาวเนปจูนแรงจัด วัดความเร็วได้ถึง ๒,๐๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง การสังเกตจุดดำบนตัวดวง ช่วยให้ทราบว่า ดาวเนปจูนหมุนรอบตัวเองครบรอบในเวลา ๑๘ ชั่วโมง

ดาวเนปจูนอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทาง ๓๐ เท่า ของระยะห่างระหว่างโลก กับดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์เคยคิดกันว่า ดาวเนปจูนคงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์น้อยมาก จนไม่น่าจะมีฤดูกาลเกิดขึ้น แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลบันทึกภาพดาวเนปจูนต่อเนื่องนาน ๖ ปี สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ในบรรยากาศระหว่างซีกเหนือกับซีกใต้ของดาวเนปจูนได้อย่างชัดเจน


กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ถ่ายภาพดาวเนปจูนช่วง พ.ศ. ๒๕๓๙ - พ.ศ. ๒๕๔๕ (ค.ศ. ๑๙๙๖ - ๒๐๐๒) แสดงการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศของดาวเนปจูน
(ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/L. Sromovsky/P. Fry แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน - แมดิสัน)

ดาวบริวารของดาวเนปจูน
นักดาราศาสตร์ส่องกล้องโทรทรรศน์ค้นพบดาวบริวารดวงใหญ่ของดาวเนปจูนใน พ.ศ. ๒๓๘๙ ปีเดียวกับที่ค้นพบดาวเนปจูน เรียกชื่อว่า ไทรทัน (Triton) มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย เป็นดาวบริวารขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่โคจรสวนทางกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเนปจูน สันนิษฐานว่า ไทรทันคงเป็นสมาชิกในระบบสุริยะ ที่โคจรเข้าใกล้ และถูกดาวเนปจูนดึงดูดไว้เป็นบริวาร เมื่อหลายพันล้านปีก่อน

นับถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ ดาวเนปจูนมีดาวบริวารที่รู้จักแล้ว ๑๓ ดวง ๒ ดวงแรกพบจากกล้องโทรทรรศน์บนโลก คือ ไทรทัน กับ เนรีด (Nereid) อีก ๖ ดวงเป็นดาวบริวารขนาดเล็กที่ค้นพบได้จากภาพถ่ายของยานวอยเอเจอร์ ๒ ต่อมาด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวบริวารดวงใหม่อีก ๕ ดวง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖ ซึ่งล้วนมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ - ๔๐ กิโลเมตร เท่านั้น ปรากฏเป็นจุดริบหรี่และอยู่ไกลจากดาวเนปจูนมาก

วงแหวนของดาวเนปจูน
หลังจากนักดาราศาสตร์ค้นพบว่าดาวยูเรนัสมีวงแหวนล้อมรอบ โดยอาศัยโอกาส ขณะดาวเคราะห์เคลื่อนที่บังดาวฤกษ์ที่อยู่ไกล ทำการตรวจวัดแสงสว่างของดาวฤกษ์ที่ลดลง ต่อมาจึงใช้วิธีการเดียวกันนี้กับดาวเนปจูน และค้นพบวงแหวนของดาวเนปจูน ด้วยการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์บนโลก วงแหวนที่เห็นมีลักษณะบาง แคบ และไม่เต็มวง แต่ยานวอยเอเจอร์ ๒ ซึ่งถ่ายภาพในระยะใกล้ ปรากฏว่าวงแหวนของดาวเนปจูน มี ๔ ชั้น ประกอบด้วย วัตถุเล็กๆ สีมืดคล้ำ กระจายเป็นวงรอบดาวเนปจูน วงแหวนบางส่วนเล็กและบาง จนไม่สามารถสังเกตเห็นจากโลก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฝุ่น ที่เกิดจากเศษดาวเคราะห์พุ่งชนดาวบริวาร ของดาวเนปจูนจนฟุ้งกระจาย และถูกดาวเนปจูนดึงดูดไว้ กลายเป็นส่วนประกอบในวงแหวน ในภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น